KJDOO.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาการใช้งานของคุณ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

7 สิ่งห้ามพลาดเมื่อจัดงานทำบุญบ้าน 

7 สิ่งห้ามพลาดเมื่อจัดงานทำบุญบ้าน 

การทำบุญบ้านเป็นประเพณีที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน และมักจะทำกันทุกปี เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขให้คนในบ้านเพราะเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเหล่าเทวดาและเจ้าที่ที่สถิตอยู่ที่บ้าน ในบางครอบครัวก็ทำต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรดี บทความนี้จะแนะนำ รับจัดเลี้ยงพระ สิ่งที่ห้ามพลาด 7 อย่างเมื่อจัดงานทำบุญบ้าน

  1. ไม่เลือกวันทำบุญบ้านตรงกับวันเสาร์

เมื่อคิดจะจัดงานทำบุญบ้านสิ่งแรกที่ต้องกำหนดคือวันและเวลา ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ฤกษ์ที่เจ้าของบ้านสะดวก ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่ญาติมิตรสามารถเดินทางมาร่วมงานได้ และเมื่อดูตามตำราโบราณบางบ้านก็มีความเชื่อว่าไม่ควรทำบุญบ้านในวันเสาร์ เพราะเชื่อกันว่าเป็นวันแห่งโทษทุกข์ จึงอาจจะเปลี่ยนไปทำในวันอาทิตย์แทนหรือบางครั้งก็เลือกวันให้ตรงกับวันธงชัยซึ่งถือว่าเป็นวันดีที่มีฤกษ์เหมาะสมกับการทำสิ่งดี ๆโดยเจ้าภาพสามารถเลือกช่วงเวลาทำบุญบ้านได้สองเวลา คือการถวายภัตตาหารเช้าที่จะเริ่มพิธีเวลาประมาณ 7.30 น. หรือเลือกถวายภัตตาหารเพลก็ควรเริ่มพิธีเวลาประมาณ 10.30 น. ซึ่งจะเลือกเป็นเวลากี่โมงก็ให้ถือเอาตามความสะดวกของญาติมิตรที่มาร่วมงานหรือตามเวลาที่พระสงฆ์จากวัดที่ทำการนิมนต์ว่างเว้นจากกิจนิมนต์ต่าง ๆ ด้วย 

  1. อย่าลืมเชิญแขกล่วงหน้า 

แขกที่มาร่วมงานทำบุญบ้านคือเครือญาติและผู้ใกล้ชิดของเจ้าของบ้าน ซึ่งในการเชิญแขกก็ควรเชิญล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพราะช่วงวันสุดสัปดาห์ทุกคนมักจะใช้ไปเที่ยวพักผ่อนหรือเยี่ยมครอบครัว หากไม่เชิญล่วงหน้าก็อาจจะทำให้แขกคนสำคัญติดธุระอื่น และไม่สามารถมาร่วมงานได้ โดยเจ้าภาพอาจแจ้งวันเพื่อจองคิวไว้ก่อนล่วงหน้า แล้วส่งกำหนดการละเอียดซึ่งประกอบด้วยวัน เวลาและสถานที่จัดงานให้แก่ผู้มาร่วมงานทราบภายหลัง และในกรณีที่เชิญแขกผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้เองแล้ว อาจต้องจัดรถไปรับหรือประสานงานกับญาติท่านอื่น ๆ ให้เดินทางมาร่วมงานพร้อมกันกับผู้ใหญ่ท่านดังกล่าว

 

ทําบุญบ้าน

  1. นิมนต์พระสงฆ์ตามจำนวนที่ถูกต้องตามหลักงานมงคล

ในงานทำบุญบ้าน ควรนิมนต์พระสงฆ์ทำล่วงหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ หรือควรนิมนต์ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เพราะพระสงฆ์อาจติดกิจนิมนต์อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่มีฤกษ์มงคลพิเศษต่าง ๆ ในการนิมนต์พระสงฆ์ในงานมงคลควรนิมนต์จำนวนเลขคี่ เช่น 3, 5, 7 หรือ 9 เพราะในงานอวมงคลจะนิมนต์พระสงฆ์จำนวนเลขคู่ พร้อมทั้งแจ้งเวลาที่จะจัดงานว่าจะจัดงานในเวลาเช้าหรือเพลให้ชัดเจน นอกจากนี้ควรยืมอุปกรณ์ที่ใช้ในงานพิธีทำบุญบ้านกับทางวัดเลยในวันที่ไปนิมนต์พระสงฆ์จะดีที่สุด เช่นอาสนะ ภาชนะใส่น้ำมนต์ ชุดแป้งเจิม ทองคำเปลว หรืออุปกรณ์ในการประกอบอาหาร และถ้วยชามต่าง ๆ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าจะได้อุปกรณ์ครบถ้วนตามความต้องการ นอกจากนี้ควรแจ้งรายละเอียดในเรื่องของการเดินทางของพระสงฆ์ว่าจะจัดรถมารับพระสงฆ์ที่วัดหรือต้องให้พระสงฆ์เดินทางไปเอง และในกรณีที่ให้พระสงฆ์เดินทางไปที่บ้านงานเองก็ควรจะเตรียมปัจจัยเพื่อถวายเป็นค่าเดินทางไว้ด้วย

  1. ไม่จัดทำบุญในบ้านที่รกรุงรัง

เมื่อต้องการทำบุญบ้าน สิ่งแรกคือการจัดสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อย คงไม่ดีแน่หากรับรองพระสงฆ์และแขกที่มาในงานในสภาพบ้านที่รกรุงรัง การจัดบ้านก็ถือว่าเป็นการได้ทิ้งสิ่งของไม่จำเป็นออกไปและต้อนรับสิ่งใหม่และพลังงานดี ๆ เข้ามา จากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดสถานที่ทำบุญบ้านก็คือการหาที่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา ไม่ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ในบริเวณที่เป็นมุมอับ เช่นข้างห้องเก็บของ หรือห้องน้ำ และหลีกเลี่ยงการตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ในบริเวณที่มีคนเดินผ่านไปมาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการประกอบพิธี และเจ้าบ้านควรทำความสะอาดโต๊ะหมู่และจัดวางของบนโต๊ะให้สวยงามเพื่อใช้บูชาพระรัตนตรัย ของที่ใช้บนโต๊ะหมู่บูชาจะประกอบด้วยเชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 อันและพานหรือแจกันดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม หรือจะใช้ดอกบัวก็ได้ ในส่วนของที่นั่งของเจ้าภาพควรตั้งอยู่เบื้องหน้าที่นั่งของพระสงฆ์โดยแยกเป็นสัดส่วนชัดเจนและไม่ควรอยู่สูงกว่าที่นั่งของพระสงฆ์ แต่หากจำเป็นต้องนั่งในบริเวณพื้นระดับเดียวกัน ให้ปูเสื่อหรือพรมบริเวณที่นั่งของพระสงฆ์และวางอาสนะสำหรับพระสงฆ์แต่ละรูปอีกครั้ง และควรจัดให้มีมุมน้ำดื่มเพื่อรับรองแขกที่มาถึงและคำนึงถึงความเหมาะสมในการจัดที่ทิ้งขยะเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดตาในวันงาน

  1. ไม่เตรียมภัตตาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระสงฆ์ 

ในการเลือกภัตตาหารควรเลือกให้เหมาะสมกับเวลาที่จัดงาน เช่นหากจัดงานทำบุญบ้านตอนเช้าควรเลือกอาหารที่เหมาะสมกับมื้อเช้า เช่น ข้าวต้ม และเป็นอาหารที่ไม่ผิดข้อบังคับของศาสนา ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของพระสงฆ์ในระยะยาว เช่น ไม่หวาน ไม่มัน หรือมีรสจัด เช่นเค็มจัด เผ็ดจัดเกินไป นอกจากนี้ยังต้องเตรียมอาหารเพื่อบูชาพระพุทธรูปหน้าโต๊ะหมู่บูชา และสักการะพระภูมิหรือเจ้าที่ประจำสถานที่แห่งนั้นอีกด้วย ทางเจ้าภาพอาจเลือกประกอบอาหารเองหากทำบุญบ้านในบ้านที่มีครัวกว้างขวางและมีญาติพี่น้องที่สามารถร่วมมือกันช่วยจัดภัตตาหารได้ หรือหากไม่มีผู้ช่วยจัดการด้านอาหารหรือพื้นที่ครัวเล็กก็สามารถใช้บริการธุรกิจรับจัดเลี้ยงแล้วนำอาหารมาจัดถวายแด่พระสงฆ์ ก็ถือว่าสะดวกสบายและช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆ ไปได้อีกมาก

การทำบุญบ้าน

  1. ไม่ถวายเครื่องจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรมที่หมดอายุ 

ในการทำบุญบ้านจะต้องมีการถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ทุกรูปเมื่อจบพิธี โดยทั่วไปได้แก่ปัจจัย 4 หรือของอุปโภคบริโภค ควรระมัดระวังในการเลือกเครื่องไทยธรรมที่ถวายแต่พระสงฆ์โดยการเลือกซื้อและจัดชุดด้วยตัวเอง หากซื้อเครื่องไทยธรรมที่จัดชุดสำเร็จรูปควรตรวจสอบวันหมดอายุของสินค้าที่อยู่ด้านใน ไม่ให้เหลือน้อยกว่า 6 เดือน นอกจากนี้ควรเลือกเครื่องไทยธรรมที่ไม่ผิดหลักข้อห้ามศาสนา โดยสิ่งที่เหมาะสมกับการถวายพระสงฆ์คือ 

  • เครื่องบริโภค ได้แก่ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม เครื่องดื่มพร้อมชง น้ำผลไม้ ในการเลือกควรคำนึงถึงคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ
  • เครื่องอุปโภค คือของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฉาย ร่ม ผ้าไตรจีวร รองเท้า ควรเลือกของที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และใช้งานได้ยาวนาน
  • ยารักษาโรค ควรเลือกถวายยาสามัญประจำบ้านต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวดศีรษะ ยาแก้ไอหรือบรรเทาอาการเจ็บคอ ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อและยาฆ่าเชื้อ 

  1. อย่าลืมเตรียมอุปกรณ์การประพรมน้ำมนต์ให้ครบ

ในขั้นตอนสุดท้ายของงานทำบุญบ้านมักจะให้พระสงฆ์ที่เป็นประธานในพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์และเจิมบริเวณประตูหน้าบ้านและห้องต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ในการนี้ต้องเตรียมอุปกรณ์ที่ประกอบไปด้วยแป้งเจิมหรือดินสอพอง หากต้องการติดแผ่นทองคำเปลวที่ประตูหน้าบ้านก็ควรมีตลับขี้ผึ้งสำหรับติดแผ่นทองด้วย ก่อนพิธีเจ้าภาพควรเตรียมภาชนะใส่น้ำมนต์และเทียนขี้ผึ้งแท้น้ำหนัก ๑ บาท รวมทั้งใบไม้มงคลเช่น ใบเงิน ใบทอง ใบนาก มาใช้ประกอบพิธีระหว่างพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ด้วย เมื่อเสร็จพิธีทำบุญแล้ว เจ้าภาพฝ่ายชายจะถือขันน้ำมนต์นำพระสงฆ์ไปตามห้องต่างๆ เพื่อให้พระสงฆ์ทำการประพรมน้ำมนต์ และปิดท้ายที่การเจิมประตูหน้าบ้านด้วยแป้งเจิมก็เป็นอันเสร็จพิธี

จะเห็นได้ว่าการเตรียมงานทำบุญบ้านมีข้อควรระวังอยู่หลายอย่าง แต่ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เจ้าภาพจะจัดเตรียมให้ครบครัน นอกเหนือจากการดูแลบริเวณบ้านให้สะอาดตาเพื่อรับรองพระสงฆ์และญาติมิตรให้มีความสะดวกสบายในวันทำบุญบ้าน สิ่งที่ควรทำอีกอย่างก็คือการแต่งตัวสุภาพเรียบร้อยมีความคล่องตัว ทำจิตใจให้แจ่มใส เบิกบาน เพื่อให้การทำบุญบ้านเป็นไปอย่างราบรื่นและนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลในชีวิต

อ่านบทความเกี่ยวข้อง  8 วิธีเลือก Catering สำหรับงานประชุมบริษัท